Monday, June 2, 2008

ซอฟต์แวร์พยากรณ์พื้นที่น้ำท่วม


เตือนภัยอพยพล่วงหน้าได้3-4วัน

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่พื้นที่ลุ่มน้ำ และอีกสาเหตุหนึ่ง คือการบริการจัดการน้ำของไทยยังไม่ดีพอ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำก็พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ไทยสามารถใช้ทรัพยากรน้ำได้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เผยแพร่ผลงานวิจัย เรื่อง “การพัฒนาระบบการจัดการสภาวะน้ำท่วมในลุ่มน้ำโดยการบริหารอ่างเก็บน้ำที่เหมาะสมและการพยากรณ์เตือนภัย ณ เวลาจริง : ศึกษาลุ่มน้ำป่าสัก” ซึ่งจัดทำโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และสถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน โดย วช. เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ

ศาสตราจารย์อานนท์ บุณญะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการจัดการทรัพยากรน้ำเป็นเรื่องที่สำคัญของประเทศ เชื่อมโยงกับทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ รวมถึงระบบเศรษฐกิจ ถ้ามีการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ดีจะทำให้น้ำท่วมและน้ำไม่พอใช้ พื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยอาจได้รับความเสียหาย จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือและแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติจากน้ำที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำต่าง ๆ

การวิจัยนี้ได้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์แบบจำลอง MIKE 11-GIS เพื่อให้ใช้งานบนระบบปฏิบัติการ WINDOW ทำให้ใช้งานได้ง่ายสามารถคำนวณและประเมินว่าพื้นที่ใดจะถูกน้ำท่วมได้ โดยใช้การเก็บข้อมูลจากระบบโทรมาตรจากสถานีตรวจวัดในสนามถึงปริมาณฝนตก ปริมาณน้ำ จากนั้นก็ส่งข้อมูลทางวิทยุกลับมายังศูนย์ควบคุมเข้าระบบคำนวณและทำการพยากรณ์หรือเตือนภัยต่อไป

ศ.ดร.ธวัชชัย ติงสัญชลี หัวหน้าทีมวิจัยจาก AIT กล่าวว่า เริ่มการวิจัยตั้งแต่ปลายปี 49 ใช้เวลาวิจัย 15 เดือน การพยากรณ์โดยใช้เทคโนโลยีนี้มีความแม่นยำประมาณ 80-90% จากระบบเดิมที่มีเพียง 50% และสามารถคาดการณ์และใช้เตือนล่วงหน้าได้นาน 3-4 วัน ซึ่งเป็นเวลาที่นานเพียงพอในการอพยพคนออกจากพื้นที่หากผลการพยากรณ์ออกมาว่าจะเกิดน้ำท่วมหนัก

ดร.วัชระ เสือดี นักวิจัยร่วมจากสถาบันพัฒนาการชลประทาน กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการใช้การใช้งานระบบ ซอฟต์แวร์แบบจำลอง MIKE 11 อยู่แล้ว แต่อยู่บน Dos ซึ่งไม่สะดวกโชว์แผนที่น้ำท่วมไม่ได้ จึงพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่มีอยู่น้อยทำงานได้สะดวกแทนที่จะรับข้อมูลแล้วมานั่งป้อนเหมือนก่อนก็เปลี่ยนเป็นข้อมูลที่ได้จากระบบโทรมาตรจะถูกส่งเข้ามาที่โปรแกรมโดยอัตโนมัติแล้วคำนวณออกมา เจ้าหน้าที่รู้ได้ทันทีว่า วันนี้จะปล่อยน้ำเท่าไร หรือกักเก็บเท่าไหร่ และยังคำนวณออกมาเป็นแผนที่ได้ว่าน้ำที่ปล่อยออกไปในวันที่ 1 และ 2 จะท่วมถึงตำบลไหนมีความสูงแค่ไหน

จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเตือนภัยเพราะทำให้เราสามารถรู้ก่อนล่วงหน้า

อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ได้เสร็จเรียบร้อยพร้อมที่จะนำผลวิจัยไปใช้เป็นรูปธรรม ซึ่งสถาบันฯก็ได้จัดอบรมให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านนี้อยู่ แต่ในส่วนของเขื่อนป่าสักฯนั้นยังใช้งานได้ไม่เต็มรูปแบบเนื่องจากยังติดสัญญากับบริษัทที่ปรึกษาเอกชนอยู่ แต่เมื่อหมดสัญญาก็สามารถเข้าไปติดตั้งได้ทันที.
จิราวัฒน์ จารุพันธ์
jirawatj@dailynews.co.th

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=165708&NewsType=1&Template=1

No comments: